สถานการณ์การรีไซเคิลซากแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย และ ต่างประเทศ
สำหรับกระบวนการรีไซเคิลซากแผ่นวงจรพิมพ์ในประเทศไทยนั้น ใช้กระบวนการแยกชิ้นส่วนด้วยมือให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน โดยถอดเอาชิ้นส่วนไอซีและพลาสติกต่างๆ ออกไปก่อน จากนั้นนำแผ่นวงจรพิมพ์ไปผ่านกระบวนการทางกลต่างๆ เพื่อแยกเอาทองแดงออกมา โดยกระบวนการทางกลที่ใช้ ได้แก่ การบดย่อยให้มีขนาดเล็กลง การแยกโลหะด้วยโต๊ะสั่นซึ่งอาศัยความแตกต่างของความหนาแน่นระหว่างโลหะและวัสดุที่เป็นแผ่นฐาน (กระดาษชุบฟีนอลิกอัด, อิพอกซีไฟเบอร์กลาส) ซึ่งผลิตภัณฑ์สุดท้ายของการรีไซเคิลด้วยวิธีนี้จะได้โลหะหลักๆ คือ ทองแดง และได้ส่วนของพลาสติกหรือแผ่นฐาน

จากการเปรียบเทียบกระบวนการรีไซเคิลแผ่นวงจรพิมพ์ในประเทศไทยกับต่างประเทศ ด้วยแล้ว จะเห็นว่าในประเทศไทย ยังไม่มีการรีไซเคิลโลหะมีค่าประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากทองแดง ในขณะที่ต่างประเทศจะมีการใช้เทคโนโลยีด้านอื่นๆ เพื่อแยกโลหะมีค่าออกมาด้วย โดยเฉพาะทองคำ รวมถึงการทำให้วัสดุที่แยกได้มีความบริสุทธิ์มากขึ้นโดยใช้เทคนิคทางโลหะวิทยา ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการแยกโลหะด้วยความร้อน (pyrometallurgical) และกระบวนการแยกโลหะโดยใช้การละลายทางเคมี (hydrometallurgical) เพื่อขจัดสิ่งเจือปน ซึ่งจะมีปฏิกิริยาเคมีเกี่ยวข้องในขั้นตอนนี้หลายปฏิกิริยา

ในส่วนของการรีไซเคิลในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ จะเห็นว่าแหล่งปฐมภูมิของซากแผ่นวงจรพิมพ์มาจากผู้ผลิตประเภท OEM (original equipment manufacturers) ผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ ผู้ใช้ปลายทาง (บริษัทหรือบุคคล) และ ผู้ถอดรื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์ ซึ่งซากจากแหล่งเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้รีไซเคิลโดยตรง หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิล หรือส่งไปยังผู้รีไซเคิลทางอ้อมโดยผ่านทางผู้รับเหมาในการกำจัด (disposal contractor) ชิ้นส่วนที่ยังมีค่าจะถูกถอดออกเพื่อนำไปขายซ้ำหรือใช้ซ้ำภายในโซ่อุปทานซึ่งมักจะถูกถอดออกด้วยมือ
ผลจากการถอดชิ้นส่วนด้วยมือออกไปจะทำให้ความคุ้มค่าในการรีไซเคิลลดลงไปด้วย จากนั้นชิ้นส่วนที่เหลือจะถูกส่งต่อไปแยกประเภท คัดเกรด บดย่อย แล้วคัดแยกด้วยแม่เหล็กและกระแสไหลวนเพื่อแยกเหล็กและอะลูมิเนียมออกไป ส่วนที่เป็นโลหะมีค่าในแผ่นวงจรจะถูกส่งต่อไปยังโรงงานถลุงเพื่อรีไซเคิลส่วนประกอบที่เป็นโลหะต่อไป สำหรับโลหะไม่มีค่าทั้งหมดที่อยู่ในซากแผ่นวงจรจะถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถดูได้ที่เพจนี้ หรือ ในบล็อกเกอร์ของ เอ็มอาร์ที รีไซคลิง ได้นะครับ คลิกที่ http://mrtrecycle.blogspot.com/หรือ เว็บไซต์ของเรา ที่ http://www.mrtrecycling.co.th/ และ เพจบน facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/mrtrecycle
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น